บริการทุนกู้ยืม กยศ.

มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ดำเนินงานตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนฯ พ.ศ.2560 อย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้

ลักษณะการให้กู้ยืม

  • ลักษณะที่ 1 เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
  • ลักษณะที่ 2 เงินให้การสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

ประเภทของผู้กู้ยืม

  • ผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ : ผู้ที่ไม่เคยกู้ยืมเงินกองทุน
  • ผู้กู้ยืมเงินรายเก่า : นักศึกษาผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเคยกู้ยืมเงินกองทุน มาก่อน ไม่ว่าจะเคยกู้ยืมเงินจากสถานศึกษาอื่นหรือมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม หรือเป็นผู้ที่เคยกู้ยืมเงินกองทุนมาก่อนและได้ชำระหนี้คืนครบถ้วนแล้ว และให้หมายความรวมถึงนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเคยกู้ยืมเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคตตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 คุณสมบัติทั่วไปและลักษณะต้องห้าม

คุณสมบัติทั่วไป

  1. มีสัญชาติไทย
  2. ศึกษาหรือได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
  3. เป็นผู้ขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในการเข้าศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามเพียงแห่งเดียว ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565
  4. มีผลการเรียนดีหรือผ่านเกณฑ์การวัดและประเมินผลของมหาวิทยาลัย
  5. มีความประพฤติดี ไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยขั้นร้ายแรงหรือ ไม่เป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย เช่น หมกมุ่นในการพนัน เสพยาเสพติดให้โทษ ดื่มสุราหรือเที่ยวเตร่ในสถานบันเทิงเริงรมย์เป็นอาจิณ เป็นต้น

ลักษณะต้องห้าม

  1. เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาใดๆ มาก่อน
  2. เป็นผู้ปฏิบัติงานและรับเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำในหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนในลักษณะเต็มเวลา
  3. เป็นบุคคลล้มละลาย
  4. เป็นหรือเคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาณหรือความผิดลหุโทษ
  5. เป็นหรือเคยเป็นผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้กับกองทุน เว้นแต่จะได้ชำระหนี้ดังกล่าวครบถ้วนแล้ว

คุณสมบัติเฉพาะของผู้กู้ยืม

คุณสมบัติเฉพาะของผู้กู้ยืม ลักษณะที่ 1

1. เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาท ต่อปี (รายได้สุทธิก่อนหักค่าใช้จ่าย) ทั้งนี้ รายได้ต่อครอบครัวให้พิจารณาจากหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

  • 1) รายได้รวมของนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน รวมกับรายได้ของบิดาและมารดา ในกรณีที่บิดา มารดา เป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครอง
  • 2) รายได้รวมของนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน รวมกับรายได้ของผู้ปกครองในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองมิใช่บิดา มารดา
  • 3) รายได้รวมของนักศึกษาผู้ขอกู้ยืมเงิน รวมกับรายได้ของคู่สมรส ในกรณีที่ผู้ขอกู้ยืมเงินได้ทำการสมรสแล้ว

2. เป็นผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ โดยเป็นการยื่นคำขอกู้ยืมเงินกองทุนครั้งแรก
3. เป็นผู้ที่เข้าศึกษาในระดับการศึกษาและหลักสูตร/ประเภทวิชาและสาขาเป็นไปตามประกาศที่คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษากำหนด
4. เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะในระหว่างปีการศึกษาก่อนหน้าที่จะขอกู้ยืม โดยมีหลักฐานการเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะที่น่าเชื่อถือจำนวนไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง

  คุณสมบัติเฉพาะของผู้กู้ยืม ลักษณะที่ 2

1. เป็นผู้ที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลักซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศตามประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

  • เป็นผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์ โดยเป็นการยื่นคำขอกู้ยืมเงินกองทุนครั้งแรก
  • เป็นผู้ที่เข้าศึกษาในระดับการศึกษาและหลักสูตร/ประเภทวิชาและสาขาเป็นไปตามประกาศที่คณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษากำหนด
  • เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะในระหว่างปีการศึกษาก่อนหน้าปีการศึกษาที่จะขอกู้ยืม โดยมีหลักฐานการเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ ที่น่าเชื่อถือ ตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนดสำหรับผู้กู้แต่ละประเภท ดังนี้
    1) กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ กำหนดจำนวนไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง
    2) กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเปลี่ยนระดับการศึกษา กำหนดจำนวนไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง

การทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ หมายถึง การบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคมหรือประเทศชาติในลักษณะอาสาสมัคร เพื่อช่วยขัดเกลาจิตใจให้มีความเมตตากรุณา มีความเสียสละและมีจิตสาธารณะ เพื่อช่วยสร้างสรรค์สังคมหรือสาธารณะให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขซึ่งจะต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนและไม่ได้รับค่าตอบแทนในลักษณะการจ้าง

ขอบเขตการให้กู้ยืม

ค่าเล่าเรียน : ผู้กู้สามารถกู้ยืมเงินค่าเล่าเรียนได้ไม่เกินอัตราที่มหาวิทยาลัยเรียกเก็บตามหลักสูตร
ค่าครองชีพ : ผู้กู้สามารถกู้ยืมเงินค่าครองชีพได้ในอัตรา 3,000 บาทต่อเดือน

 ผู้รับรองรายได้ครอบครัว

การรับรองรายได้ครอบครัวของผู้กู้ยืมเงิน ให้ผู้กู้ยืมจัดหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับบำเหน็จบำนาญ ตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2552 เป็นผู้รับรองรายได้ครอบครัว

การขอกู้ กยศ.มรพส.

ผู้กู้ประสงค์กู้ยืมเงินสามารถยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงินในระบบ DSL ผ่าน Application กยศ. Connect หรือ ผ่าน wesite กยศ.

การเตรียมเอกสารเพื่อยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงินผ่านระบบ DSL 

  1. เตรียมเอกสารประกอบการยื่นกู้ในระบบ DSL
  2. คู่มือการยื่นคำขอกู้และการอนุมัติคำขอกู้ยืมเงินในระบบ DSL
  3. คู่มือการยื่นขอกู้ยืมเงิน กรณีผู้ปกครองมีสัญชาติไทย/ไม่ใช่สัญชาติไทย