จาก “โรงเรียนฝึกหัดครู” สู่ “มหาวิทยาลัย”
ยุคโรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลสงคราม (2464-2497) 33 ปี
เมื่อปี พ.ศ. 2464 รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา จึงทําให้โรงเรียนประจํามณฑลพิษณุโลก “พิษณุโลกวิทยายน” ในขณะนั้น เพิ่มหลักสูตรวิชาครูแก่นักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 – 6 เมื่อสําเร็จการศึกษาแล้วทางราชการจะบรรจุให้เข้ารับราชการครูทันที โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้มีบทเฉพาะกาลให้ใช้เป็นบางท้องที่ที่มีความสะดวกและเหมาะสม ขณะนั้นมลฑลพิษณุโลก จึงยังไม่มีโรงเรียนฝึกหัดครู จึงใช้วิธีเพิ่มหลักสูตรวิชาครูในโรงเรียนประจำมณฑลพิษณุโลก “พิษณุโลกพิทยาคม” แต่มีผู้สนใจเรียนน้อย สมุหเทศาภิบาลมณฑลและธรรมการมณฑล และธรรมการจังหวัด จึงเห็นพ้องต้องกันว่าควรก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นในมณฑลพิษณุโลก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 เปิดโรงเรียนฝึกหัดครู มณฑลได้รับงบประมาณจาก กระทรวงธรรมการสมทบกับเงินบริจาคของพ่อค้าประชาชนในจังหวัดพิษณุโลกจึงเริ่มสร้างอาคารเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูประจํามณฑลขึ้น ในที่ดินพระราชวังจันทน์เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูชาย ภายหลังจากดําเนินการก่อสร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนพิษณุโลกวิทยายน” และเสด็จพร้อมสมเด็จพระบรมราชินีรําไพพรรณี ทรงเปิดอาคารเรียนเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2469 เวลาประมาณ 15.30 น. ณ พระราชวังจันทน์ (โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมหลังเก่าในพระราชวังจันทน์) ซึ่งต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้น ทางราชการจึงสั่งยุบโรงเรียน
ปี พ.ศ. 2476 เปิดสอนหลักสูตรวิชาครู ได้แก่ หลักสูตรประโยคครูมูล หลักสูตรประโยคครูประกาศนียบัตรจังหวัด (ครู ว.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรครูประชาบาล (ป.ป.) ในโรงเรียนสตรีประจํามณฑลพิษณุโลก (โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรีในปัจจุบัน)
ปี พ.ศ. 2486 แผนกฝึกหัดครูของโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรีได้แยกออกมาจากโรงเรียนสตรีประจํามณฑลพิษณุโลก ตั้งเป็นโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูพิษณุโลก โดยที่กิจการแยกกัน แต่สถานที่ยังใช้รวมกันอยู่ ซึ่งโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูนี้สังกัดกรมวิสามัญศึกษา
ปี พ.ศ. 2497 กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งกรมการฝึกหัดครูขึ้นจึงโอนโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูพิษณุโลกไปสังกัดกรมการฝึกหัดครู และปรับปรุงหลักสูตรเป็นประกาศนียบัตรวิชา การศึกษา (ป.กศ.)
ยุควิทยาลัยครูพิบูลสงคราม (2497-2535) 38 ปี
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2499 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติเงิน ก.ศส. จํานวน 5 ล้านบาท ให้สร้างโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรีขึ้นใหม่ในที่ดินราชพัสดุ เล่มที่ 7326 พื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา ในที่ตรงข้ามแม่น้ำ (ส่วนวังจันทน์ปัจจุบัน) แต่โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรีไม่ได้ย้ายมาอยู่ ณ ที่แห่งใหม่ ทางราชการจึงได้ยก โรงเรียนใหม่ให้แก่โรงเรียนสตรีฝึกหัดครู และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูพิษณุโลกเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลสงคราม” เปิดรับนักศึกษาแบบสหศึกษานักเรียนหญิงประจํา นักเรียนชายเดินเรียน นับแต่นั้นมา
โรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลสงคราม เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และได้ซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินของ โรงเรียนการช่างชาย ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันทางทิศใต้เป็นเงิน 1,380,000 บาท ได้พื้นที่เพิ่มอีก 13 ไร่ 2 งาน 62 ตารางวา ทําให้มีเนื้อที่ขนาดเนื้อที่ในปัจจบุัน คือ 40 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา เปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) และประกาศนียบัตรชั้นสูง (ป.กศ.สูง) และยังได้เนื้อที่ฝั่งที่ดินของกองทัพอากาศ จํานวน 120 ไร่ ซึ่งมหาวิทยาลัยนเรศวรขอใช้ และมีกรณีพิพาทเรื่องการเป็นเจ้าของที่ดินจนถึง ปี 2538 ได้มีการเจรจาระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม แบ่งพื้นที่กันเด็ดขาดในปี 2548 แบ่งเป็น 3 แปลง ส่วนที่ 1 44-3-40 ไร่ เป็นโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามในปัจจุบัน ส่วนที่ 2 เนื้อที่ 45-0-30 ไร่ เป็นโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวรในปัจจุบัน และส่วนที่ 3 เนื้อที่ 11-0-15 ไร่ ใช้ร่วมกับทั้งมหาวิทยาลัยนเรศวรกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม โดยหักเนื้อที่ที่ขอใช้เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแล้ว
ปี พ.ศ. 2518 รัฐบาลได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู โดยมีสภาการฝึกหัดครูทําหน้าที่กําหนดนโยบายและควบคุมการบริหารงานในวิทยาลัยครูทั่วประเทศ และเปลี่ยนชื่อตําแหน่งหัวหน้าสถานศึกษาเป็นอธิการวิทยาลัยครู การบริหารงานของวิทยาลัย จัดเป็นคณะวิชาและสํานักหรือศูนย์ที่เทียบเท่าคณะวิชา และ ได้ทําการเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) ซึ่งเปิดสอนปริญญาตรีสายครูเท่านั้น และในปีเดียวกันได้ทําเรื่องติดต่อกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ทุ่งทะเลแก้ว กระทรวงมหาดไทยเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการใช้ที่ดินบริเวณทุ่งทะเลแก้ว จํานวน 1,000 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2519 เป็นสถานที่ตั้ง วิทยาลัยครูพิบูลสงครามแห่งใหม่ ตามหนังสือที่ มท. 0007/12607 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2519 และมีการวางโครงการและขั้นตอนการปรับปรุงที่ดินและ สิ่งก่อสร้างใหม่ในทุ่งทะเลแก้วโดยวางโครงการใช้ที่ดินระยะแรก 50 ไร่ก่อน ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 เริ่มรังวัดที่ดินรวม 982-3-42 ไร่ ในปัจจุบันมีการขอบริจาคเป็น ถนนทางเข้ามหาวิทยาลัย 7 ราย เนื้อที่ 5-1-40 ไร่ ขอใช้ที่เพิ่มจากกระทรวงเกษตร ด้านติดถนนบายพาส เนื้อที่ 10-0-50 ไร่ และมีการขอซื้อที่ดิน สปก. 2 แปลง เนื้อ ที่ 2-0-11 ไร่ และขอซื้อที่ดินด้าน ป.ช.ส. เนื้อที่ 8-2-66 รวมเนื้อที่ส่วนทะเลแก้วในปัจจุบัน ทั้งสิ้น 1,001-3-7 ไร่ (หักส่วนที่ถูกตัดเป็นถนนสายบายพาสแล้ว)
ปี พ.ศ. 2527 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 กําหนดให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการสาขาครุศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ รวมถึงหลักสูตรปริญญาตรีอื่นๆ ด้วย
ยุคสถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม (2535-2547) 12 ปี
กรมการฝึกหัดครูได้ดําริที่จะขอพระราชทานนามใหม่แก่วิทยาลัยครูเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นธรรมและเพื่อประโยชน์ของบัณฑิตจากวิทยาลัยครูเป็นสําคัญ เพื่อให้ได้ชื่อที่เหมาะสม กรมการฝึกหัดครูได้มีหนังสือเวียนไปยังวิทยาลัยครูทุกแห่งเพื่อระดมสมองคิดหาชื่อใหม่ของวิทยาลัยครูและกรมจะคัดเลือกชื่อที่เห็นว่าดีที่สุด ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ เพื่อขอให้พระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย โปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นนามใหม่ของวิทยาลัยครูต่อไป กระบวนการการสรรหา เป็นไปอย่างคึกคักและเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าในที่สุดก็น่าจะได้ชื่อใหม่มาแทนที่คําว่า “วิทยาลัยครู” มีชื่อจํานวนมากเสนอกรมการฝึกหัดครูปรากฏว่าคําว่า “สถาบันราช พัฒนา” เป็นคําที่ถูกใจคณะกรรมการและคนส่วนใหญ่ กรมการฝึกหัดครูจึงทําหนังสือถึงสํานักราชเลขาธิการเพื่อขอให้นําความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ให้พระองค์ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของชาววิทยาลัยครู และขอพระราชทานนามใหม่ว่า “สถาบันราชพัฒนา” หรือ ชื่ออื่นใดสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” แทนคําว่า “วิทยาลัยครู” วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม” และเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2538 ประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ เพื่อให้สถาบันมีความเป็นอิสระและคล่องตัวทั้งในด้านการดําเนินการและการเปิดสอนในระดับการศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรีได้
ยุคมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (2547-ปัจจุบัน)
จากประวัติอันยาวนาน…มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ผลิตบัณฑิตออกสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง ตามปณิธานเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ผลผลิตบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยก็คือศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาและประกอบสัมมาชีพตามศาสตร์วิชาต่างๆ อยู่ทั่วไปจนถึง ปี พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นปีแห่งการครบรอบ 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
“100 ปีแห่งความภูมิใจ ร้อยใจเป็นหนึ่งเดียว”
สรุปวันสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
7 มกราคม พ.ศ.2469 กำเนิดโรงเรียนฝึกหัดประจำมลฑลพิษณุโลก จากงบประมาณของกระทรวงธรรมการ สมทบกับเงินบริจาคของพ่อค้าประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเปิดอาคารเรียน พร้อมสมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี เวลาประมาณ 15.30 น. ทรงพระราชทานนาม โรงเรียนว่า “โรงเรียนพิษณุวิทยายน” เป็นโรงเรียนฝึกหัดครูมณฑลพิษณุโลก
1 มิถุนายน พ.ศ.2499 ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลสงคราม” จากการที่ กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งกรมการฝึกหัดครูขึ้นและปรับปรุงหลักสูตรเป็นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) นับแต่นั้นมาโรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลสงครามก็เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยกฐานะเป็น “วิทยาลัยครู” เมื่อรัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู ในปี พ.ศ 2518
14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “สถาบันราชภัฏ” แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม” ต่อมาเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในปี พ.ศ.2547 จึงยกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม” จนถึงปัจจุบัน
ที่มา : มติสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 105(1/2558) วันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2558
รายละเอียดเพิ่มเติม
หน่วยศิษย์เก่าสัมพันธ์ งานบริการนักศึกษาและศิษย์เก่า กองพัฒนานักศึกษา
โทร. 055-267000-2 ต่อ 9606 website : http://sas.psru.ac.th Facebook : sas.psru