บริการสุขภาพ (ประกันสุขภาพถ้วนหน้า)

สิทธิบัตรทอง หรือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับนักศึกษา มรพส.

ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ คนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักและไม่มีสิทธิประกันสังคมหรือสิทธิสวัสดิการการรักษาของข้าราชการ/ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ สวัสดิการรักษาอย่างอื่นที่รัฐจัดให้ โดยครอบคลุมประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต จำนวน 13 รายการ ได้แก่

  1. บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
  2. การตรวจวินิจฉัยโรค
  3. การตรวจและรับฝากครรภ์
  4. การบำบัดและการบริการทางการแพทย์
  5. ยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์
  6. การทำคลอด
  7. การกินอยู่ในหน่วยบริการ
  8. การบริบาลทารกแรกเกิด
  9. บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วย
  10. บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ
  11. การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ
  12. บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ
  13. บริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดเพิ่มเติม

บริการอื่นๆ ที่เคยเป็นข้อยกเว้น และได้รับการพิจารณาให้เป็นสิทธิที่ได้รับเพิ่มเติม ได้แก่

  1. การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดที่มีกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
  2. การบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุการประสบภัยจากรถที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
  3. การรักษาภาวะมีบุตรยากและการผสมเทียม ยกเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทน (Surrogacy)
  4. และการรักษาโรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน เกินกว่า 180 วัน

สิทธิบัตรทองกับผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐได้ตามสิทธิ์เอกชนกว่า 106 แห่ง ทั่วประเทศ โดยใช้สิทธิบัตรทอง ในส่วนของประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาทหรือสิทธิ สปสช. (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2565 หากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด คือผลเป็นบวกติดเชื้อโควิด-19 หากอยู่ในกลุ่มสีเขียว หรือกลุ่มไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อย เช่น มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาขึ้นไป, ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส, เจ็บคอ ไอ/มีน้ำมูก มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง ในกรณีนี้จะได้รับการรักษาตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข คือ ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือ เจอ แจก จบ (OP with self isolation) หรืออีกแนวทางหนึ่งคือรักษาที่บ้าน (Home Isolation) โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และให้ไปรับการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งประชาชนสิทธิบัตรทองนอกจากหน่วยบริการประจำตามสิทธิแล้ว ยังสามารถเข้ารักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ใช้ใบส่งตัว ตามนโยบายยกระดับบัตรทองได้ด้วย (หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น) และ รพ.เอกชนที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวกับ สปสช. (ปัจจุบันมีจำนวน 85 แห่ง)

ทั้งนี้ ในระหว่างการรักษาตามแนวทาง เจอ แจก จบ หรือการรักษาที่บ้าน หากมีอาการเปลี่ยนแปลง เข้าสู่กลุ่มสีเหลือง/แดง สถานพยาบาลจะส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลอื่นที่มีความพร้อมในการดูแลได้ต่อไป และสามารถใช้สิทธิ UCEP Plus ได้ (UCEP โควิด พลัส : UCEP Plus) หมายถึง ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติโควิด-19 โดยให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดงยังสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกแห่งจนหายโดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนกลุ่มอาการสีเขียวสามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษา

สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิ สปสช. ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 90 กก., มะเร็ง, เบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) เด็กอายุ 0-5 ปี คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง โทร.มาที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 18 เพื่อเข้าระบบการรักษาตามแนวทางการคัดกรองต่อไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิประกันสังคม ให้ไป รพ.ที่ลงทะเบียนไว้ สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมทุกแห่ง และสถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง และสิทธิข้าราชการ เข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง และ รพ.เอกชนที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวกับ สปสช. (ปัจจุบันมีจำนวน 85 แห่ง) โดยการรักษาจะเป็นไปตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขเช่นกันคือ ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือ เจอ แจก จบ หรืออีกแนวทางหนึ่งคือรักษาที่บ้าน (Home Isolation)

การเปลี่ยนโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการในการรักษาพยาบาล

สำหรับนักศึกษา ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงที่อยู่หรือภูมิลำเนาต่างจังหวัด มาเพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม โดยมีความประสงค์จะขอรับสิทธิบัตรทอง ในความคุ้มครองการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนของจังหวัดพิษณุโลกที่เข้าร่วมโครงการสิทธิบัตรทอง สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดให้นักศึกษาหรือผู้ถือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” ที่ต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการในการรักษาพยาบาล สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ในวันเวลาราชการ โดยต้องมีคุณสมบัติเป็นตามเงื่อนไขเปลี่ยนโรงพยาบาลบัตรทอง

เงื่อนไขการเปลี่ยนโรงพยาบาลบัตรทอง

  • ผู้ใช้งานต้องมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิว่าง
  • อายุ 15 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป
  • ลงทะเบียนด้วยตนเองเท่านั้น ยังไม่สามารถลงทะเบียนแทนบุคคลในครอบครัวได้ (ณ ปัจจุบัน)
  • เปลี่ยนหน่วยบริการได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี

ขั้นตอนการเปลี่ยนโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการในการรักษาพยาบาลสามารถทำได้ 2 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ผ่านทางไลน์ สปสช.

  • พิมพ์ @nhso ที่ช่องค้นหา หรือ สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อเพิ่มเพื่อน
  • ระบบจะแสดงรายละเอียดข้อตกลง จากนั้นกด “ยอมรับ”
  • กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และกดถัดไป
  • ระบุข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติม ได้แก่ ชื่อ สกุล วันเดือนปีเกิด เลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีบัตรประชาชนไม่มีรหัสหลังบัตรจะต้องลงทะเบียนที่หน่วยรับบริการลงทะเบียน)
  • ตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก จากนั้นกดถัดไป
  • กรอกหมายเลขโทรศัพท์เพื่อขอรับ OTP และกดขอรับรหัส OTP
  • กรอกรหัส OTP ที่ได้รับ 8. กดเลือกเมนู  “ตรง” กรณีที่พักอาศัยตรงกับบัตรประชาชน
  • ถ่ายรูปบัตรประชาชน โดยใช้กล้องหลัง
  • จากนั้นถ่ายรูปเซลฟี่ ตนเองกับบัตรประชาชน โดยใช้กล้องหน้า จากนั้นกดอัพโหลด
  • กรณีที่พักอาศัยไม่ตรงกับบัตรประชาชน ให้กดเลือกเมนู “ไม่ตรง”
  • จากนั้นแนบหลักฐานการพักอาศัยปัจจุบัน เช่น บิลค่าน้ำ ค่าไฟ หรือ หนังสือรับรองเจ้าของบ้าน หรือ สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดแบบคำร้อง จากนั้นกดอัพโหลด
  • ระบบจะแสดงเครือข่ายบริการที่สามารถเลือกได้ จากนั้นให้กดเลือกเครือข่ายหน่วยบริการที่ต้องการ
  • ระบบจะแสดงผลว่า ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้กดถัดไปจากนั้นกดยืนยัน
  • สิทธิเกิดใหม่ทันที ที่เครือข่ายหน่วยบริการที่เลือกไว้
  • เข้าเมนูตรวจสอบสิทธิ เพื่อดูรายละเอียดสิทธิที่เกิดใหม่

ขั้นตอนที่ 2 ติดต่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ โรงพยาบาลของรัฐใกล้ที่อยู่อาศัย

ในการติดต่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ โรงพยาบาลของรัฐใกล้ที่อยู่อาศัย จะต้องจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ยื่นเพื่อลงทะเบียนในการเปลี่ยนหน่วยบริการประจำในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใน 2 กรณี ได้แก่

  • กรณีพักอาศัยอยู่ตรงตามบัตรประจำตัวประชาชน หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่น ประกอบด้วยบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลัก กรณีเป็นเด็กเล็กให้ใช้ “สูติบัตร” (ใบเกิด) แทน
  • กรณีพักอาศัยไม่ตรงกับที่อยู่ในบัตรประจำตัวประชาชน ต้องใช้หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเพิ่มเติม (ถ้ามี) อาทิ
  • หนังสือรับรองการพักอาศัยอยู่จริงของเจ้าบ้าน พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
  • หนังสือรับรองของผู้นำชุมชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้นำชุมชน
  • หนังสือรับรองจากผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ว่าจ้าง/ผู้รับจ้าง
  • หรือเอกสารหรือหลักฐานอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ที่แสดงว่าตนเองมีถิ่นที่อยู่หรือพักอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ
  • ทะเบียนบ้านของผู้ลงทะเบียน

โดย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้แก่ รพ.สต.พลายชุมพล รพ.สต.บ้านคลอง รพ.สต บ้านกร่าง รพ.สต. วัดจันทร์ รพ.สต.อรัญญิก และ รพ.สต. อื่นๆ ที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้การส่งต่อการรักษาของโรงพยาบาลพุทธชินราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ

สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม :

คู่มือผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ  
ตรวจสอบสิทธิ์การรักษา  
รพ.เอกชนที่ทำข้อตกลงเข้าร่วมให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 สีเขียวกับ สปสช.  
ไลน์ สปสช. @nhso

รายละเอียดเพิ่มเติม :        

หน่วยบริการสุขภาพ งานบริการนักศึกษาและศิษย์เก่า กองพัฒนานักศึกษา
โทร.055-267000 ต่อ 9801 หรือ สายด่วน สปสช. 1330