หน่วยทุนการศึกษา ดำเนินการจัดบริการทุนการศึกษา (ประเภททุนทั่วไป) เป็นนโยบายหลักด้านการจัดการสวัสดิการควบคู่ไปกับการจัดการศึกษาระดับชาติ เพื่อเป็นการช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมให้นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสศึกษาและพัฒนาตนเองได้สูงสุดตามศักยภาพเช่นเดียวกับนักศึกษาอื่น จัดสรรทุนการศึกษาตามคุณสมบัติผู้รับทุนอย่างมีหลักเกณฑ์ ติดตาม ดูแล ด้านการศึกษา ความประพฤติ ตลอดจนการใช้จ่ายเงินทุนการศึกษาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แหล่งทุนกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
ลักษณะที่ 1 ทุนการศึกษาแบบรายปี
เป็นทุนการศึกษาที่นักศึกษาจะได้รับการพิจารณาการขอรับทุนเป็นรายปีการศึกษา และจะได้รับการจัดสรรทุนการศึกษาในปีการศึกษานั้นๆ เพียงครั้งเดียว แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ประเภทที่ 1 ทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย เป็นการดำเนินงานโดยคณะกรรมการกองทุนการศึกษาและการพัฒนานักศึกษา ในการจัดหาทุนทรัพย์เพื่อการช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริมและจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาผู้มีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสศึกษาและพัฒนาตนเองได้สูงสุดตามศักยภาพเช่นเดียวกับนักศึกษาอื่น โดยในแต่ละปีการศึกษามหาวิทยาลัยจะได้รับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณจากกองทุนดังกล่าว เพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558-2565 ทั้งสิ้น 887 ทุน เป็นเงินทั้งสิ้น 4,815,000 บาท (สี่ล้านแปดแสนหนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน)
- ประเภทที่ 2 ทุนการศึกษาจากแหล่งทุนภายนอก โดยความประสงค์ขององค์กร มูลนิธิ ธนาคาร บริษัท สมาคม และผู้มีจิตศรัทธาบริจาค เป็นผู้กำหนดรายละเอียด เงื่อนไข หลักเกณฑ์การพิจารณา และแนวปฏิบัติในการจัดสรรทุนการศึกษาตามแต่ละบริบทของแหล่งทุนนั้นๆ
ลักษณะที่ 2 ทุนการศึกษาแบบต่อเนื่อง
เป็นทุนการศึกษาที่นักศึกษาได้รับการพิจารณาให้ได้รับทุนการศึกษาในระดับก่อนอุดมศึกษา จนสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือได้รับขณะศึกษาในระดับอุดมศึกษาจนสำเร็จการศึกษา หรือในระดับที่สูงกว่านี้ตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ของแต่ละแหล่งทุน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ประเภทที่ 1 ทุนต่อเนื่องจากสถาบันการศึกษาเดิมหรือในระดับก่อนอุดมศึกษา เมื่อนักศึกษาเข้ามาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามแล้ว ทุนดังกล่าวยังคงให้ต่อเนื่องจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาครบตามหลักสูตรที่เงื่อนไขแหล่งทุนกำหนด
- ประเภทที่ 2 ทุนต่อเนื่องที่มหาวิทยาลัยดำเนินการพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของแหล่งทุนใดแหล่งทุนหนึ่ง โดยพิจารณาคัดเลือกตั้งแต่นักศึกษาเข้ามาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และจัดสรรให้นักศึกษาได้รับทุนต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาครบตามหลักสูตรที่เงื่อนไขแหล่งทุนกำหนด
หากนักศึกษามีความประสงค์ที่จะขอรับทุนสนับสนุนการศึกษาจะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน และผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ที่แหล่งทุนกำหนด
ขั้นตอนการพิจารณาทุนการศึกษา
- แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาทุนการศึกษา
- ขอรับการสนับสนุนทุนการศึกษาประจำปีการศึกษา จากคณะกรรมการกองทุนการศึกษาและการพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
- ขอรับการสนับสนุนและรวบรวมข้อมูลการบริจาคทุนการศึกษา จากผู้มีจิตศรัทธา
- รับสมัครนักศึกษาเพื่อขอรับทุนการศึกษา ประจำปีการศึกษา
- ประชุมคณะกรรมการพิจารณาทุนการศึกษา เพื่อจัดสรรทุนการศึกษา
- ประกาศผลการพิจารณานักศึกษาทุน โดยจัดเรียงตามลำดับความจำเป็น
- จัดพิธีมอบทุนการศึกษา
- หน่วยทุนการศึกษา งานบริการนักศึกษาและศิษย์เก่า กองพัฒนานักศึกษา ประชาสัมพันธ์ ประกาศรับสมัคร นักศึกษาเพื่อรับทุนการศึกษาจากแหล่งทุนต่างๆ ทั้งทุนต่อเนื่อง และทุนรายปี เช่น ทุนมูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง ทุนมูลนิธิทิสโก้ เพื่อการกุศล ทุนมูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ทุนจากผู้มีจิตศรัทธา ฯลฯ โดยพิจาณาจากคุณสมบัติที่แหล่งทุนกำหนด
หลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรทุนการศึกษา
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนการสัมภาษณ์
- กรรมการสัมภาษณ์ ใช้กรรมการอย่างน้อย 5 คน
- แนวทางในการสัมภาษณ์ ให้กรรมการสัมภาษณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับ อาชีพ รายได้ รายจ่าย หนี้สินของครอบครัว ความพยายามในการหารายได้พิเศษเพื่อช่วยเหลือตัวเอง และการใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสมของนักศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการประเมินความจำเป็นใน การให้ทุนการศึกษา
- การให้คะแนน ให้กรรมการแต่ละคนประเมินความจำเป็นในการให้ทุน โดยใช้หลักเกณฑ์ พิจารณาให้คะแนน ตามแบบประเมินผลการสัมภาษณ์นักศึกษาที่สมัครขอรับทุนการศึกษา การให้คะแนนมากแสดงว่ามีความจำเป็นในการให้ทุนการศึกษามากกว่าผู้ที่ได้คะแนนน้อย และนำคะแนนจากกรรมการ มาเฉลี่ยเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาความจำเป็นในการ ให้ทุนการศึกษา
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนการพิจารณาจัดสรรทุนการศึกษา
- การคิดคะแนนการสัมภาษณ์ของนักศึกษาแต่ละคน การให้คะแนนมากแสดงว่ามีความจำเป็นในการให้ทุนการศึกษามากกว่าผู้ที่ได้คะแนนน้อย และนำคะแนนจากกรรมการ มาเฉลี่ยเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาความจำเป็นในการให้ ทุนการศึกษา
- ทุนการศึกษาที่มีมูลค่าไม่เท่ากัน ให้จัดสรรทุนที่มีมูลค่าสูงกว่ากับผู้ที่ได้คะแนนสูง
- กรณีที่ได้คะแนนสัมภาษณ์เท่ากันและทุนมีจำกัด ให้คณะอนุกรรมการทุนการศึกษาพิจารณาในที่ประชุมร่วมกัน เพื่อสรุปมติการพิจารณาให้ทุนอย่างเหมาะสม
สถิติการให้บริการทุนการศึกษา
รายละเอียดเพิ่มเติม :
หน่วยทุนการศึกษา งานบริการและสวัสดิการนักศึกษา กองพัฒนานักศึกษา
อาคารกิจการนักศึกษา (Student Union) ชั้น 1 โทรศัพท์ 055-267000-2 ต่อ 9602