โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ) มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

ความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำริให้ดำเนิน “โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเมื่อปี 2552 ทรงให้นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคง ต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ตามความสามารถของแต่ละคน อันเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและศักยภาพแก่เยาวชนไทย

ต่อมาในปี 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)” ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ และให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนสืบต่อไป การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ ม.ท.ศ. มีกลไกคณะกรรมการมูลนิธิฯ กำกับดูแลอำนวยการระดับนโยบาย และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. ช่วยขับเคลื่อนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด ทุกจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ร่วมดำเนินการคัดเลือก คัดสรร ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจากทุกจังหวัด เพื่อเข้าสู่การพิจารณากลั่นกรองให้รับทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ตลอดระยะเวลาที่เป็นนักเรียนทุนพระราชทานฯ จนสำเร็จการศึกษา และติดตามการทำงาน การบำเพ็ญประโยชน์ทำจิตอาสาเพ่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

การดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาฯ นับตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2564 มีนักเรียนผู้ได้รับทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. จากทุกจังหวัด ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องไปแล้ว รวม 13 รุ่น จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวม 2,088 ราย เงินทุนพระราชทานที่จัดสรรไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 607,641,205 บาท โดยนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ได้มีการปรับปรุงหลักการ แนวคิด แนวทางการดำเนินงานโครงการทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลยิ่งขึ้นตามพระบรมราโชบาย โดยให้มีการทำสัญญาการรับทุนและชดใช้ทุน และให้ผู้รับทุนฯ เข้ารับการฝึกและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่รับทุน  เพื่อเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพอย่างรอบด้าน บ่มเพาะให้เป็นคนดี มีทัศนคติที่ถูกต้องดีงาม มีจิตอาสาเพื่อส่วนรวม โดยเริ่มใช้นับตั้งแต่นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รุ่นที่ 9 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

หมายเหตุ ข้อมูลจากคู่มือและ แผนปฏิบัติการการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ปี 2565

วัตถุประสงค์

  • เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเด็กและเยาวชนไทยที่เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม ด้วยการพระราชทาน ทุนการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แก่ผู้ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้มี โอกาสศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญ สายอาชี และศึกษาต่อเนื่องไปจนจบ ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ สาขาขาดแคลน สาขาด้านความมั่นคง และเข้าสู่การมีอาชีพอย่างมั่นคง รวมทั้งการพระราชทานทุนเป็นกรณีๆ ตามที่คณะกรรมการ ม.ท.ศ. จะเห็นสมควร
  • เพื่อเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง ดีงาม ต่อต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชำติ บ่มเพาะความมีวินัย รวมทั้งพัฒนาศักยภาพความสามารถการเรียนรู้ ให้เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ อันจะช่วยสร้างพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็งแก่เด็กและเยาวชนไทย ผู้ได้รับทุนพระราชทานเป็นนักเรียนทุนในพระองค์ฯ สามารถเติบโตเป็นคนดี มีคุณภาพนำความรู้กลับไปทำงานพัฒนาท้องถิ่นชุมชน มีสัมมาชีพมั่นคง เป็นพลเมืองที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชำติ

การจัดสรรเงินทุนพระราชทาน

การจัดสรรเงินทุนพระราชทานต่อเนื่อง ในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ให้กับนักเรียนทุนฯ จะใช้วิธีการโอนเงินเข้าบัญชีทุนพระราชทานฯ ของแต่ละคน โดยจะโอนให้เป็นงวด (ประมาณ 2-3 งวด ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ของทุกปี) ซึ่งนักเรียนทุนฯ ระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า จะต้องเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบบัญชีเงินทุนพระราชทานฯ และ บริหารการเบิกจ่ายด้วยตนเอง จึงแนะนำให้จัดทำบัญชีรับจ่ายของตนไว้เพื่อสามารถบริหารจัดการการเงินของตน ให้พอสำหรับใช้ได้ตลอดทั้งปีการศึกษา ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ระบบการดูแลนักเรียนทุนฯ ในแต่ละมหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษาแล้ว จะมีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยแนะนำต่อไป

วงเงินการจัดสรรทุนพระราชทาน

ยึดตามอัตราที่คณะกรรมการ ม.ท.ศ. กำหนดไว้เดิม โดยทุนระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ครอบคลุม 4 หมวดค่าใช้จ่าย ดังนี้

  • หมวดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษและเกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ครอบคลุมค่าหน่วยกิต ค่าธรรมเนียมบำรุงการศึกษาและอื่นๆ ที่สถาบันการศึกษาเรียกเก็บโดยตรงจากผู้เรียน โดยโครงการทุนฯ ม.ท.ศ. จะสนับสนุนให้ตามจำนวนค่าใช้จ่ายจริงที่มหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษาเรียกเก็บจากผู้เรียน
  • หมวดค่าหอพัก ให้สำหรับผู้ที่ต้องเช่าหอพัก ตามจ่ายจริงโดยมีหลักฐานประกอบทั้งนี้ ต้องไม่เกินเดือนละ 2,000บาท หรือ 24,000 บาท/ปี
  • หมวดค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน ให้เท่ากันทุกราย เหมาจ่ายในอัตรา 10,000 บาท/ปี
  • หมวดค่าครองชีพ ให้เท่ากันทุกรายในอัตรา 48,000 บาท/ปี (เฉลี่ยเดือนละ 4,000 บาท)

หมายเหตุ คณะกรรมการ ม.ท.ศ. มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงอัตราทุนฯ ม.ท.ศ. โดยปรับเพิ่มเฉพาะค่าใช้จ่ายหมวดค่าครองชีพ ระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 บาท/ปี (เฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท) เริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป

การติดตามดูแลนักเรียนทุนฯ ม.ท.ศ.

การติดตามดูแลนักเรียนทุนฯ ม.ท.ศ. จะดำเนินการอย่างเป็นระบบต่อเนื่องตลอดช่วงการเป็นนักเรียนทุนฯ โดยมีระเบียบมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ว่าด้วยการดูแลนักเรียนทุนโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. พ.ศ.2561 เป็นระเบียบปฏิบัติที่นักเรียนทุน ม.ท.ศ. ต้องยึดมั่นถือมันปฏิบัติ เพื่อสามารถดำรงสถานะการเป็นนักเรียนทุนพระราชทานต่อเนื่องจนจบการศึกษา โดยนักเรียนผู้รับทุนฯ ม.ท.ศ. จะอยู่ในความดูแลของ ม.ท.ศ. ภายใต้ระเบียบมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ.ว่าด้วยการดูแลนักเรียนทุนในโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. พ.ศ. 2561 โดยกำหนดให้

1) ต้องประพฤติและปฏิบัติตามระเบียบวินัย ข้อบังคับของสถานศึกษา และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อกำหนดโครงการทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ตระหนักและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของนักเรียนทุนฯ ทั้งต่อการเรียน การเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน การประพฤติตามระเบียบวินัยของนักเรียน ดำรงตนอย่างมีศีลธรรม มีความกตัญญูและเป็นพลเมืองที่ดี มีจิตอาสาช่วยเหลือพัฒนาท้องถิ่นชุมชน ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม รวมทั้งต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี มีวินัยตามระเบียบนักเรียน ไม่บกพร่องในศีลธรรมอันดี มีทัศนคติที่ถูกต้องดีงาม มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชาติ และรักษาสุขภาพร่างกาย ให้แข็งแรงสมบูรณ์

2) ต้องตั้งใจและเพียรพยายามศึกษาอย่างดีที่สุด เพื่อพัฒนาความสามารถทางวิชาการ และมีความมุ่งมั่นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ สาขาขาดแคลน สาขาด้านการเกษตร สาขาด้านความมั่นคง ในสายทหาร ตำรวจ หรือสาขาที่คณะกรรมการมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานฯ ม.ท.ศ. กำหนด โดยไม่หลีกเลี่ยง ละเลย ทอดทิ้ง ยุติหรือเลิกการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด เพื่อเข้าสู่การมีอาชีพได้อย่างมั่นคง

3) ต้องรักษาผลการเรียนให้อยู่ในระดับดี มีคะแนนเฉลี่ยในทุกปีการศึกษาไม่ต่ำกว่า 3.00 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการใช้เป็นค่ามาตรฐานของประเทศ ทั้งนี้ หากกรณีผลการเรียนปีแรกในชั้น ม.4/ปวช.1 มีผลการเรียนระดับ 2.00 – ไม่เกิน 3.00 ตลอดทั้งปีการศึกษา จะให้โอกาส ในการปรับตัวอย่างต่อเนื่องอีก 1 ปีการศึกษา เพื่อเร่งปรับตัวด้านผลการเรียนให้มีระดับดีขึ้นเกินกว่า 3.00 ทั้งนี้ หากไม่สามารถทำได้ อาจเสนอคณะกรรมการ พิจารณายกเลิกทุนในปีต่อไป

4) ต้องมีวินัยและความรับผิดชอบในการใช้จ่ายเงินทุนพระราชทาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์และการจัดสรรทุนพระราชทาน รวมทั้งบริหารจัดการการเงิน ส่วนบุคคลของตนอย่างถูกต้อง มีการทำบัญชีรับจ่ายรายเดือนทุกเดือน และจะต้องรับผิดชอบจัดทำและส่งรายงานผลการเรียน ความประพฤติ และการใช้จ่ายเงินทุนพระราชทาน ในทุกภาคเรียนและทุกปีการศึกษาจนจบการศึกษา ตามที่กำหนด

5) ต้องเข้ารับการฝึกและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ตามหลักสูตรที่โครงการทุนฯ จัดเตรียมให้ในแต่ละช่วงชั้นอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย นับตั้งแต่รับทุนการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าตามระยะเวลาหลักสูตรกำหนด โดยความถี่ของการเข้ารับการฝึกและพัฒนาศักยภาพจะเป็นไปตามที่คณะกรรมการ ม.ท.ศ. และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. กำหนด

ทั้งนี้ โครงการทุนฯ จะจัดให้มีการเสริมทักษะด้านวิชาการ และการแนะแนวการศึกษาต่อ ให้กับนักเรียนฯ ต่อเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งในการฝึกและพัฒนาศักยภาพตามสัญญาการรับทุนฯ กรณีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ เช่น สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2563-2564 ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการติววิชาการและการแนะแนว โดยใช้รูปแบบออนไลน์ ใช้ช่วงปิดภาคเรียนทดแทน

ภายใต้การดำเนินงานโครงการทุนฯ จัดให้มีการติดตามดูแลนักเรียนทุนฯ ตลอดระยะเวลารับทุนฯ และเมื่อจบการศึกษา โดยมีกลไก 3 ระดับ ประกอบด้วย
(1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงาน ม.ท.ศ. และติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการทุนการศึกษา
(2) คณะกรรมการคัดเลือก คัดสรรผู้รับพระราชทานทุนและประสานงานระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และศึกษาธิการจังหวัดเป็นเลขานุการ และ
(3) สถานศึกษา โดยผู้อำนวยการสถานศึกษา ครูประจำชั้น ครูผู้ดูแล และผู้ปกครอง ร่วมติดตามดูแล ทั้งนี้ ในระดับมหาวิทยาลัยจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมติดตามดูแล อย่างรอบด้าน ทั้งด้านการเรียน ความประพฤติ และการใช้จ่ายเงินทุนฯ รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเรียนและการใช้ชีวิต เพื่อสามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที ซึ่งคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด จะมีบทบาทสำคัญในการติดตามผลการเรียน ความประพฤติ และการใช้จ่ายเงินทุนฯ ในทุกภาคเรียนและทุกปีการศึกษา พร้อมทั้งประสานกำกับให้สถานศึกษาจัดส่งรายงานผลการเรียนฯ ให้ฝ่ายเลขานุการโครงการทุนการศึกษาพระราชทาน ม.ท.ศ. ตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัด จะทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ให้ช่วยเหลือกรณีนักเรียนทุนฯ และครอบครัวประสบปัญหาวิกฤติ

การติดตาม กำกับ ดูแลนักเรียนทุนพระราชทานระหว่างศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม รับนักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ที่เข้าศึกษาต่อโดยเริ่มตั้งแต่ ปีการศึกษา 2555 จนถึงปัจจุบัน โดย หน่วยทุนการศึกษา งานบริการนักศึกษาและศิษย์เก่า กองพัฒนานักศึกษา ดำเนินการรายงานข้อมูลต่อสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ดังนี้
1) ตรวจสอบข้อมูลและยืนยันสถานภาพนักศึกษา
2) ตรวจสอบยืนยันค่าใช้จ่ายด้านการเรียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยเรียกเก็บจากผู้เรียนโดยตรง
3) ตรวจสอบค่าที่พักอาศัย
4) กรณีนักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ที่เข้าศึกษาต่อ ให้ตรวจสอบระยะเวลาเรียนที่จบตามหลักสูตรพร้อมรายชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาและหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ
5) แจ้งรายชื่อนักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. ไปยังแต่ละคณะเพื่อแจ้งอาจารย์ที่ปรึกษา ในการติดตามกำกับดูแลเกี่ยวกับผลการเรียน และความประพฤติ โดยติดตามดูแลให้นักศึกษาปฏิบัติตนตามข้อบังคับและหลักเกณฑ์ของผู้รับทุน โดยเคร่งครัด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำกรอบการจัดสรรทุนพระราชทานฯต่อเนื่อง ตามมติคณะกรรมการ ม.ท.ศ. ต่อไป โดยเงินทุนพระราชทานฯ จะโอนเข้าบัญชีธนาคารของนักเรียนทุนโดยตรง ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของนักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. อย่างเคร่งครัด

รายนามผู้ได้รับทุนการศึกษา ปีการศึกษา 2567

รุ่นชื่อ-สกุลรหัสนักศึกษาสาขาคณะอาจารย์ที่ปรึกษา
11นายชัยวัฒน์ ศรีคเรศ6512113053ภาษาอังกฤษครุศาสตร์อ.ภาวิณี เดชเทศ
12น.ส.ญาราภรณ์ แออัด6612106038คณิตศาสตร์ครุศาสตร์รศ.ดร.ภัคพล ปรีชาศิลป์
13น.ส.ธิญา อ้นน่วม6712128008ภาษาอังกฤษครุศาสตร์อ.กาญจน์ชนก เอมแสง

รายละเอียดเพิ่มเติม
หน่วยทุนการศึกษา งานบริการนักศึกษาและศิษย์เก่า กองพัฒนานักศึกษา
โทรศัพท์ 055-267000-2 ต่อ 9622