สิทธิบัตรทอง หรือ สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับนักศึกษา มรพส.
ผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ คนไทยทุกคนที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักและไม่มีสิทธิประกันสังคมหรือสิทธิสวัสดิการการรักษาของข้าราชการ/ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ สวัสดิการรักษาอย่างอื่นที่รัฐจัดให้ โดยครอบคลุมประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต จำนวน 13 รายการ ได้แก่
- บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
- การตรวจวินิจฉัยโรค
- การตรวจและรับฝากครรภ์
- การบำบัดและการบริการทางการแพทย์
- ยา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์
- การทำคลอด
- การกินอยู่ในหน่วยบริการ
- การบริบาลทารกแรกเกิด
- บริการรถพยาบาล หรือบริการพาหนะรับส่งผู้ป่วย
- บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ
- การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ
- บริการสาธารณสุขด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ
- บริการสาธารณสุขอื่นที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดเพิ่มเติม
บริการอื่นๆ ที่เคยเป็นข้อยกเว้น และได้รับการพิจารณาให้เป็นสิทธิที่ได้รับเพิ่มเติม ได้แก่
- การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดที่มีกำหนดเกี่ยวกับการให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด
- การบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุการประสบภัยจากรถที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
- การรักษาภาวะมีบุตรยากและการผสมเทียม ยกเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทน (Surrogacy)
- และการรักษาโรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทผู้ป่วยใน เกินกว่า 180 วัน
สิทธิบัตรทองกับผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐได้ตามสิทธิ์เอกชนกว่า 106 แห่ง ทั่วประเทศ โดยใช้สิทธิบัตรทอง ในส่วนของประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาทหรือสิทธิ สปสช. (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2565 หากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด คือผลเป็นบวกติดเชื้อโควิด-19 หากอยู่ในกลุ่มสีเขียว หรือกลุ่มไม่มีอาการ-อาการเล็กน้อย เช่น มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาขึ้นไป, ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส, เจ็บคอ ไอ/มีน้ำมูก มีผื่น ถ่ายเหลว ตาแดง ในกรณีนี้จะได้รับการรักษาตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข คือ ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือ เจอ แจก จบ (OP with self isolation) หรืออีกแนวทางหนึ่งคือรักษาที่บ้าน (Home Isolation) โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และให้ไปรับการรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งประชาชนสิทธิบัตรทองนอกจากหน่วยบริการประจำตามสิทธิแล้ว ยังสามารถเข้ารักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ โดยไม่ใช้ใบส่งตัว ตามนโยบายยกระดับบัตรทองได้ด้วย (หน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น สถานีอนามัย, รพ.สต., หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล, ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น) และ รพ.เอกชนที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวกับ สปสช. (ปัจจุบันมีจำนวน 85 แห่ง)
ทั้งนี้ ในระหว่างการรักษาตามแนวทาง เจอ แจก จบ หรือการรักษาที่บ้าน หากมีอาการเปลี่ยนแปลง เข้าสู่กลุ่มสีเหลือง/แดง สถานพยาบาลจะส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลอื่นที่มีความพร้อมในการดูแลได้ต่อไป และสามารถใช้สิทธิ UCEP Plus ได้ (UCEP โควิด พลัส : UCEP Plus) หมายถึง ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติโควิด-19 โดยให้ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดงยังสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกแห่งจนหายโดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ส่วนกลุ่มอาการสีเขียวสามารถเข้ารับการรักษาฟรีในโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษา
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิ สปสช. ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้แก่ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า 90 กก., มะเร็ง, เบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) เด็กอายุ 0-5 ปี คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง โทร.มาที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 18 เพื่อเข้าระบบการรักษาตามแนวทางการคัดกรองต่อไป เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สิทธิประกันสังคม ให้ไป รพ.ที่ลงทะเบียนไว้ สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคมทุกแห่ง และสถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง และสิทธิข้าราชการ เข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง และ รพ.เอกชนที่ทำข้อตกลงรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวกับ สปสช. (ปัจจุบันมีจำนวน 85 แห่ง) โดยการรักษาจะเป็นไปตามแนวทางใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขเช่นกันคือ ผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน หรือ เจอ แจก จบ หรืออีกแนวทางหนึ่งคือรักษาที่บ้าน (Home Isolation)
การเปลี่ยนโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการในการรักษาพยาบาล
สำหรับนักศึกษา ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงที่อยู่หรือภูมิลำเนาต่างจังหวัด มาเพื่อศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม โดยมีความประสงค์จะขอรับสิทธิบัตรทอง ในความคุ้มครองการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนของจังหวัดพิษณุโลกที่เข้าร่วมโครงการสิทธิบัตรทอง สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดให้นักศึกษาหรือผู้ถือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” ที่ต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการในการรักษาพยาบาล สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ในวันเวลาราชการ โดยต้องมีคุณสมบัติเป็นตามเงื่อนไขเปลี่ยนโรงพยาบาลบัตรทอง
เงื่อนไขการเปลี่ยนโรงพยาบาลบัตรทอง
- ผู้ใช้งานต้องมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิว่าง
- อายุ 15 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป
- ลงทะเบียนด้วยตนเองเท่านั้น ยังไม่สามารถลงทะเบียนแทนบุคคลในครอบครัวได้ (ณ ปัจจุบัน)
- เปลี่ยนหน่วยบริการได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี
ขั้นตอนการเปลี่ยนโรงพยาบาล หรือหน่วยบริการในการรักษาพยาบาลสามารถทำได้ 2 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ผ่านทางไลน์ สปสช.
- พิมพ์ @nhso ที่ช่องค้นหา หรือ สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อเพิ่มเพื่อน
- ระบบจะแสดงรายละเอียดข้อตกลง จากนั้นกด “ยอมรับ”
- กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และกดถัดไป
- ระบุข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติม ได้แก่ ชื่อ สกุล วันเดือนปีเกิด เลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีบัตรประชาชนไม่มีรหัสหลังบัตรจะต้องลงทะเบียนที่หน่วยรับบริการลงทะเบียน)
- ตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก จากนั้นกดถัดไป
- กรอกหมายเลขโทรศัพท์เพื่อขอรับ OTP และกดขอรับรหัส OTP
- กรอกรหัส OTP ที่ได้รับ 8. กดเลือกเมนู “ตรง” กรณีที่พักอาศัยตรงกับบัตรประชาชน
- ถ่ายรูปบัตรประชาชน โดยใช้กล้องหลัง
- จากนั้นถ่ายรูปเซลฟี่ ตนเองกับบัตรประชาชน โดยใช้กล้องหน้า จากนั้นกดอัพโหลด
- กรณีที่พักอาศัยไม่ตรงกับบัตรประชาชน ให้กดเลือกเมนู “ไม่ตรง”
- จากนั้นแนบหลักฐานการพักอาศัยปัจจุบัน เช่น บิลค่าน้ำ ค่าไฟ หรือ หนังสือรับรองเจ้าของบ้าน หรือ สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดแบบคำร้อง จากนั้นกดอัพโหลด
- ระบบจะแสดงเครือข่ายบริการที่สามารถเลือกได้ จากนั้นให้กดเลือกเครือข่ายหน่วยบริการที่ต้องการ
- ระบบจะแสดงผลว่า ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้กดถัดไปจากนั้นกดยืนยัน
- สิทธิเกิดใหม่ทันที ที่เครือข่ายหน่วยบริการที่เลือกไว้
- เข้าเมนูตรวจสอบสิทธิ เพื่อดูรายละเอียดสิทธิที่เกิดใหม่
ขั้นตอนที่ 2 ติดต่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ โรงพยาบาลของรัฐใกล้ที่อยู่อาศัย
ในการติดต่อโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือ โรงพยาบาลของรัฐใกล้ที่อยู่อาศัย จะต้องจัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ยื่นเพื่อลงทะเบียนในการเปลี่ยนหน่วยบริการประจำในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใน 2 กรณี ได้แก่
- กรณีพักอาศัยอยู่ตรงตามบัตรประจำตัวประชาชน หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่น ประกอบด้วยบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลัก กรณีเป็นเด็กเล็กให้ใช้ “สูติบัตร” (ใบเกิด) แทน
- กรณีพักอาศัยไม่ตรงกับที่อยู่ในบัตรประจำตัวประชาชน ต้องใช้หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเพิ่มเติม (ถ้ามี) อาทิ
- หนังสือรับรองการพักอาศัยอยู่จริงของเจ้าบ้าน พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
- หนังสือรับรองของผู้นำชุมชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้นำชุมชน
- หนังสือรับรองจากผู้ว่าจ้างหรือนายจ้าง พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ว่าจ้าง/ผู้รับจ้าง
- หรือเอกสารหรือหลักฐานอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ที่แสดงว่าตนเองมีถิ่นที่อยู่หรือพักอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ
- ทะเบียนบ้านของผู้ลงทะเบียน
โดย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้แก่ รพ.สต.พลายชุมพล รพ.สต.บ้านคลอง รพ.สต บ้านกร่าง รพ.สต. วัดจันทร์ รพ.สต.อรัญญิก และ รพ.สต. อื่นๆ ที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้การส่งต่อการรักษาของโรงพยาบาลพุทธชินราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในกำกับของรัฐ
สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม :
– | คู่มือผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ |
– | ตรวจสอบสิทธิ์การรักษา |
– | รพ.เอกชนที่ทำข้อตกลงเข้าร่วมให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 สีเขียวกับ สปสช. |
– | ไลน์ สปสช. @nhso |
รายละเอียดเพิ่มเติม :
หน่วยบริการสุขภาพ งานบริการนักศึกษาและศิษย์เก่า กองพัฒนานักศึกษา
โทร.055-267000 ต่อ 9801 หรือ
สายด่วน สปสช. 1330